“จะทำตามคนอื่นทำไม เสน่ห์ร้านซาวอุบล ที่มีคุณยายจุยเป็นเชฟหลัก เพราะสิ่งที่เรามีขายดีที่สุดแล้ว!”

แนวคิดเริ่มธุรกิจจากสิ่งรอบตัว

เมื่อธุรกิจเดิมเริ่มไปต่อไม่ได้

จะทำอย่างไรให้อยู่รอด?

ไอเดียเริ่มต้นธุรกิจจากสิ่งที่เรามี

“อยากเริ่มทำธุรกิจ แต่จะทำอะไรดีนะ?”

เป็นคำถามที่เกิดขึ้นกับใครหลาย ๆ คนที่อยากเริ่มธุรกิจแต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มทำอะไรดี บางคนก็ดูจากคนอื่น ถ้าเห็นว่าใครทำอะไรแล้วได้ผลดี ก็อยากทำตามบ้าง แต่สุดท้ายก็อาจจะต้องพบกับความผิดหวัง เพราะคนอื่นทำแล้วดี ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะทำแล้วออกมาดีเหมือนเค้าเสมอไป ถ้าเป็นอย่างนั้นเราจะควรจะเริ่มจากอะไร วันนี้เรามีไอเดียในการเริ่มธุรกิจมาฝากทุกคน โดยเราจะพาไปรู้จักกับ ‘ร้านซาวอุบล’ ร้านส้มตำที่อุดมไปด้วยเสน่ห์ ที่หากใครได้ลิ้มลองก็จะต้องติดใจ

คุณอีฟ ณัฐธิดา พละศักดิ์ เจ้าของร้านซาวอุบล เล่าว่าจุดเริ่มต้นมาจากการที่ธุรกิจรถไถที่เคยทำอยู่เดิมเริ่มไปต่อไม่ได้จากภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ต้องหาทางออกที่จะมาเลี้ยงดูตัวเอง ครอบครัว และทีมงานทั้งหมด เลยได้กลับมานั่งคิดว่าถ้าจะเปลี่ยนธุรกิจ ควรเริ่มจากอะไร 

เริ่มจากสิ่งที่ตัวเองมี

ก่อนหน้านี้คุณอีฟไม่รู้เลยว่าอาหารที่ตัวเองทานอยู่ทุกวันเป็นอาหารที่มีความพิเศษจนมีเพื่อนมาบอกว่าอาหารที่บ้านคุณอีฟกินอาหารดีมาก คุณยายทำอาหารอร่อย แถมยังเลือกใช้วัตถุดิบตามฤดูกาล หลังจากนั้นคุณอีฟก็ได้ทำการทดลองโดยการทำโปรเจกต์คอร์สอาหาร เพื่อหาคำตอบที่คนส่วนใหญ่มีมุมมองที่ไม่ดีต่ออาหารอีสาน โดยตั้งโจทย์ว่า ‘ถ้าเค้าสามารถทำให้ปลาร้าอร่อยจนคนไม่รู้ว่าที่กินเข้าไปคือ ปลาร้า คนจะรู้สึกยังไง’ 

ด้วยความที่ที่บ้านคุณอีฟมีคุณยายจุย แม่นมผู้อยู่เบื้องหลังรสชาติอาหารท้องถิ่นสุดเพอร์เฟกต์ ทำให้ทุกคนรู้สึกเพลิดเพลินกับการทานอาหารอีสานในครั้งนี้ โดยที่ไม่มีใครรู้เลยว่าอาหารที่กินเข้าไปมีส่วนผสมของปลาร้าทั้งหมด ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากโปรเจกต์นี้ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนที่มาทดลองรวมถึงตัวคุณอีฟเองมีมุมมองต่ออาหารอีสานที่เปลี่ยนไป

ค้นพบความพิเศษในความธรรมดา

คุณอีฟพบว่าอาหารอีสานที่คุณยายจุยทำเป็นอาหารท้องถิ่นตามฤดูกาล ที่สำคัญคือมีความใส่ใจ ใส่ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมลงไปในอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความเป็นอยู่ของคน ทำให้อาหารทุกจานมีความมหัศจรรย์ โดยที่เมื่อก่อนคุณอีฟไม่เคยมองเลยว่าอาหารที่คุณอีฟทานทุกวันมีความพิเศษ ทำให้เรารู้เลยว่า เวลาเริ่มธุรกิจเราไม่ต้องไปดูสิ่งที่คนอื่นมี แต่ต้องกลับมาดูว่าสิ่งที่เรามีคืออะไร จึงเกิดเป็นร้านซาวอุบล ที่มีคุณยายจุยเป็นเชฟหลัก

คุณอีฟยังบอกอีกว่าเวลาไปจ่ายตลาดกับคุณยายจุย ก็จะได้เรียนรู้ไปกับวิถีชุมชนและเรียนรู้จากสิ่งที่แม่ค้าบอก เช่น จะซื้อผักชนิดนี้ แต่แม่ค้าบอกว่าไม่มี เอาผักอย่างอื่นไปแทนได้มั้ย หรือแมงนี้ไม่มี เอาอันนั้นไปได้มั้ย คุณอีฟจึงได้เห็นวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่สามารถปรับเปลี่ยนวัตถุดิบไปตามสิ่งที่มี หรือใช้วัตถุดิบตามฤดูกาล จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ Chef Table ที่ลูกค้าไม่รู้เลยว่าเชฟจะทำเมนูอะไรให้เรากิน นั่นแหละที่เป็นเสน่ห์ของร้านซาวอุบล

หา DNA ของธุรกิจ

แน่นอนว่าทุกธุรกิจต้องมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง แม้ว่าในบางทีอาจเป็นเราเองที่ยังมองไม่เห็น เพราะต่อให้ขายส้มตำเหมือนกัน เราก็ไม่มีทางออกแบบส้มตำ รสชาติ บริการ หรือการพูดคุยให้เหมือนกันในทุกร้านได้ DNA ของร้านซาวอุบล ไม่ได้มีเพียงรสชาติของอาหาร แต่ยังมีการใส่คุณค่าของวัฒนธรรมท้องถิ่นลงไป ทำให้ร้านซาวอุบลมีความโดดเด่นและแตกต่างจากร้านอื่น ๆ ที่สำคัญยังทำให้ร้านซาวอุบลมีคนจองเต็มตลอด 

พัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น

อาหารท้องถิ่นบางอย่างก็ต้องทานทันทีที่ทำเสร็จถึงจะได้รสชาติที่อร่อยที่สุด เช่น ไก่อบโอ่งที่จะอร่อยที่สุดเวลาที่อบเสร็จใหม่ ๆ แต่เมื่อเป็นร้านอาหาร จึงไม่มีทางรู้เลยว่าลูกค้าจะสั่งตอนไหน ทำให้มีช่วงเวลาที่ต้องรอลูกค้า ทำให้ไก่อบโอ่งมีความแห้ง คุณอีฟก็ไม่ละเลยแม้ปัญหาเพียงเล็กน้อย จึงนำไอเดียจากเพื่อนเชฟที่บอกว่า มีวิธีการรีดเลือดแบบฝรั่งที่จะช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้กับไก่มาปรับใช้ จะเห็นได้ว่าเราสามารถพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมากมาย เพียงแค่รับฟังปัญหาที่ลูกค้าบอกแม้เพียงคนเดียวก็ตามมาพัฒนาและปรับปรุงให้ดีขึ้น ก็ช่วยให้ธุรกิจของเรามีความยั่งยืนได้

ถ้าสังเกตดี ๆ เราจะเห็นได้ว่า สิ่งที่ทุกประเทศขายได้ดีที่สุดก็คือสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและมีเอกลักษณ์เฉพาะ เรามักจะคุ้นเคยว่าสิ่งที่เรามีอยู่เป็นเรื่องธรรมดา ก็แค่ปูนา ก็แค่อ่อม แต่สิ่งเหล่านั้นก็อาจเป็นเรื่องใหม่ของคนในพื้นที่อื่น ๆ ก็ได้ เรียกได้ว่าคุณค่าท้องถิ่นขายดีที่สุด


หากเราจะเริ่มทำธุรกิจอะไรบางอย่าง ลองเริ่มจากสิ่งที่มีอยู่รอบตัว สิ่งที่เรามองว่าเป็นเรื่องธรรมดา และมองหาเอกลักษณ์ที่จะมาเป็นเสน่ห์ดึงดูดลูกค้า
สิ่งเหล่านั้นอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เราสามารถนำไปต่อยอด เพื่อให้ธุรกิจของเราโดดเด่น แตกต่าง และอยู่ได้อย่างยั่งยืน


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *