กรณีศึกษาธุรกิจ Plant-based meat ในไทย
จะทำยังไงให้คนกินเนื้อหันมากินผัก?
กรณีศึกษาธุรกิจ Plant-based meat ในไทย
“จะทำยังไงให้คนหันมาซื้อของเรา?”
ไอเดียเปลี่ยนคนแปลกหน้าเป็นลูกค้าที่ซื้อซ้ำ
จากกรณีศึกษาธุรกิจ Plant-based meat ในไทย
รู้หรือไม่ว่าธุรกิจอะไรกำลังมาแรง?
ปัจจุบันผู้บริโภคหลายคนให้ความสำคัญกับสุขภาพร่างกายกันมากขึ้น ผู้คนต่างกลัวการมีโรคภัยไข้เจ็บที่นำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ตามมา จึงได้มีการค้นหาว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคได้บ้าง จากการศึกษาพบว่าอาหารเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ที่มีสารเจือปนเป็นจำนวนมาก เช่น สารเร่งเนื้อแดง สารกันบูด สารกันหืน และยังมีสถานการณ์โควิด-19 ที่เข้ามากระทบกับการใช้ชีวิต ทำให้เราเห็นถึงความสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพกันมากยิ่งขึ้น
ประกอบกับการที่ผู้คนก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญในเรื่องการมีชีวิตอยู่กับเพื่อนร่วมโลก นั่นก็คือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ทำให้เทรนด์การทานอาหารแบบมังสวิรัติหรือวีแกนที่ลดการทานเนื้อสัตว์มีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้คนหันมาทานผักกันมากขึ้น แต่ก็ยังอดไม่ได้ที่จะอยากทานเนื้อ จึงเกิดเป็นนวัตกรรมที่เรียกว่า Plant-based meat เนื้อไม่ได้ทำมาจากเนื้อสัตว์แต่ทำมาจากพืช ซึ่งเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่และคนที่ใส่ใจสุขภาพให้ความนิยมและหันมารับประทานกันมากขึ้น นอกจาก Plant-based meat จะให้ความรู้สึกว่าเรามีสุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้นแล้ว ยังให้ความรู้สึกที่ดีทางใจอีกด้วย จึงเรียกได้ว่าเป็นเทรนด์ขาขึ้นของธุรกิจเพื่อสุขภาพเลยจริง ๆ
คุณภู – วิภู เลิศสุรพิบูล และคุณนิกส์ – วรุตม์ จันทร์โพธิ์ ผู้ก่อตั้ง Meat Avatar ซึ่งเป็นแบรนด์ Plant-based meat ในไทย เห็นถึงปัญหาที่คนมีความกังวลทั้งในเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จึงมีการนำพืชผักมาผสมแต่งกลิ่นให้กลายเป็นเนื้อสัตว์ โดย Plant-based meat ของแบรนด์ Meat Avatar มีการทำเป็นรสชาติที่ถูกปากคนไทยและยังคงรูปแบบความเป็นไทยไว้ เช่น หมูกรอบ หมูสับ ในราคาที่จับต้องได้ ทำให้ Meat Avatar มียอดขายที่สูงมาก ซึ่งเกิดมาจากความเข้าใจปัญหาและไม่ทิ้งกลิ่นอายของความเป็นไทยซึ่งเป็นความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย
สิ่งที่ทำให้แบรนด์มีความยั่งยืนนั้น นอกจากแบรนด์จะทำธุรกิจเพื่อตัวเองแล้ว ยังต้องคำนึงถึงสังคมด้วย โดยคุณภูกับคุณนิกส์เห็นว่าถ้าสามารถลดการทำปศุสัตว์ได้ จะสามารถลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 18% ต่อปีเลยทีเดียว ดังนั้นแนวคิดที่นึกถึงสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลระยะยาวกับทุกคนก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แบรนด์มีความยั่งยืน
นอกจากนั้นแบรนด์ยังมีการสร้าง Community สำหรับคนที่มีความสนใจในการรับประทาน Plant-based meat โดยจัดแคมเปญที่มีชื่อว่า Wednesday Shine เชิญชวนให้คนลดเนื้อสัตว์และมาทานผักกันในวันพุธกลางสัปดาห์ โดยให้ทุกคนคิดเมนูจาก Plant-based meat แล้วนำมาแชร์กันใน Community ซึ่งเป็นแคมเปญที่ทำให้คนเข้ามามีส่วนร่วมกับแบรนด์มากขึ้น
คุณภู กับคุณนิกส์คิดว่าการที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคที่ทานเนื้อสัตว์มาตลอดชีวิตให้มาทานแต่ผักในเวลาอันรวดเร็วคงเป็นไปได้ยาก จึงค่อย ๆ เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค เริ่มจากในสัปดาห์นึงไม่ทานเนื้อสัตว์มื้อนึง ค่อย ๆ เพิ่มไปเรื่อย ๆ ซึ่งแคมเปญนี้นอกจากจะทำให้คนรู้สึกผูกพันกับแบรนด์แล้ว ยังทำให้คนกลับมาซื้อซ้ำมากขึ้นอีกด้วย
การทำธุรกิจนั้น นอกจากการดูเทรนด์ตลาดที่กำลังจะมาแล้ว เรายังจำเป็นต้องใส่ใจกับกลุ่มเป้าหมายของเราให้มาก ๆ การผลักดันให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมในทันทีอาจเป็นเรื่องที่ยากเกินไป เพราะคนปรับตัวไม่ทัน ทำให้แบรนด์ของเรานั้นอยู่ได้แบบไม่ยั่งยืน ลองกลับมาดูธุรกิจตัวเองว่า ยังมีอะไรที่เป็นเราสามารถพัฒนาอีกบ้าง เพื่อที่จะพาแบรนด์ของเราให้กลายเป็นแบรนด์ที่โดดเด่น แตกต่าง และมีความยั่งยืน