ใครว่าทุกอย่างต้องเพอร์เฟกต์! เสน่ห์ของร้าน The Restaurant Of Order Mistakes ร้านที่จ้างพนักงานอัลไซเมอร์

เปลี่ยนปัญหารอบตัวเป็นเสน่ห์ดึงดูดลูกค้า

แนวคิดธุรกิจที่สร้างความรู้สึกดี

จนลูกค้าอยากบอกต่อ

ดึงเสน่ห์ของความไม่เพอร์เฟ็กต์

สู่ธุรกิจที่ยั่งยืนเพื่อสังคม

แนวคิดธุรกิจที่สร้างความรู้สึกดี จนลูกค้าอยากบอกต่อ…

รู้หรือไม่ว่าบนโลกใบนี้มีธุรกิจที่เกิดมาจากการมองเห็นเสน่ห์จากปัญหาของคนรอบข้าง ที่แม้จะไม่เพอร์เฟกต์ แต่ก็สามารถทำให้ลูกค้ารู้สึกดีจนอยากบอกต่อ ซึ่งบทความนี้เราจะพูดถึงธุรกิจแบบนี้กัน

ปกติแล้วเวลาที่เราไปร้านอาหาร เราจะรู้ว่าอาหารที่มาเสิร์ฟจะต้องเป็นเมนูที่เราสั่งไปอย่างแน่นอน เพราะการเสิร์ฟอาหารที่ถูกต้องเป็นมาตรฐานทั่วไปที่ทุกร้านต้องทำได้ แต่ไม่ใช่กับร้านนี้ ที่มีชื่อว่า The Restaurant Of Order Mistakes แค่ชื่อร้านก็ไม่ธรรมดาซะแล้ว โดยร้านนี้ตั้งอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น เริ่มมาจากคุณ Shiro Oguni (คุณโอกุนิ) อดีตผู้สื่อข่าวที่ได้มีโอกาสทำข่าวเกี่ยวกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ และได้พบกับเสน่ห์บางอย่างที่หลาย ๆ คนอาจมองไม่เห็น

ที่ศูนย์ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่คุณโอกุนิได้ไปสัมภาษณ์นั้น จะมีการให้ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุทุกท่านสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง และพยายามให้พวกเขามีกิจกรรมให้ได้ทำกันเพื่อพัฒนาสมอง เช่นมีการเสิร์ฟอาหารให้แก่ผู้ที่มาเยี่ยมเยียน โดยคุณโอกุนิก็ได้สั่งแฮมเบอร์เกอร์ไป แต่เมนูที่ได้กลับมา กลายเป็นเกี๊ยวซ่าซะงั้น ซึ่งเค้าก็เข้าใจดีเพราะเป็นไปตามธรรมชาติของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่จะมีบางช่วงเวลาที่ความทรงจำหายไป แต่คุณโอกุนิก็ยังเผลอหลุดปากไปว่า “อันนี้เป็นออเดอร์ที่ผิดใช่มั้ยครับ” ทันทีที่เค้าหลุดพูดออกไป คุณโอกุนิก็รู้สึกผิดว่า เค้ามาทำข่าวเพื่อให้คนเข้าใจผู้ป่วยอัลไซเมอร์มากขึ้น แต่เป็นตัวเค้าเองที่ไปถามคำถามจี้จุดให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์รู้สึกถูกลดทอนความมั่นใจในตัวเอง 

ซึ่งก็เป็นที่มาของการทำร้านอาหาร The Restaurant Of Order Mistakes ร้านอาหารที่เสิร์ฟผิดเป็นประจำ จากแนวคิดที่ว่าจะทำยังไงให้คนในสังคมเข้าใจสิ่งที่ติดอยู่ในใจผู้ป่วยอัลไซเมอร์มากขึ้น สิ่งที่คุณโอกุนิต้องคิดต่อก็คือ จะทำยังไงให้ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้ยาที่อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว โดยมีการตั้งโจทย์ไว้ว่า ลูกค้าที่เข้ามาในร้านต้องไม่ได้เข้ามาเพราะความสงสาร เพราะความรู้สึกสงสารนั้นจะถูกส่งต่อไปยังผู้ป่วย สิ่งที่คุณโอกุนิจะบอกก็คือ คนที่เข้ามาในร้านต้องรู้สึกสนุกและตื่นเต้น

เสน่ห์ของร้าน The Restaurant Of Order Mistakes 

เชื่อมั้ยคะว่าร้านนี้เป็นที่นิยมสำหรับคู่เดทที่เพิ่งจะเริ่มเดทกันใหม่ ๆ  เพราะด้วยความที่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์เป็นคนเสิร์ฟอาหารก็จะมีการเสิร์ฟผิดเป็นประจำ หรืออยู่ดี ๆ คุณยายก็เดินมาถามว่า “ฉันมาทำอะไรอยู่ตรงนี้” ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นถึง Empathy ของคู่เดทหรือคนที่มาด้วยกัน ว่าเค้ามีมุมมองกับเรื่องแบบนี้ยังไง

นอกจากคู่เดทแล้ว ร้านนี้ยังมีลูกค้าที่มากันเป็นครอบครัว มีเด็กเล็ก ๆ มาวิ่งเล่นกัน ทำให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์รู้สึกมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง นอกจากความสงสารที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังแล้ว ความสนุกและความตื่นเต้นที่ได้ลุ้นว่าอาหารที่มาเสิร์ฟจะถูกมั้ย ก็กลายเป็นเสน่ห์ที่สำคัญของร้านนี้

เปลี่ยนข้อผิดพลาดเป็นเสน่ห์

แนวคิดของร้านนี้ทำให้เรารู้ว่าถ้ากำลังจะเปิดร้านอะไรบางอย่าง สิ่งที่ร้านอื่นคิดว่าเป็นข้อผิดพลาด อาจเป็นเสน่ห์ที่ดีมากสำหรับร้านคุณก็ได้นะ โมเดลธุรกิจไม่มีอะไรตายตัว บางคนก็คิดว่าทุกอย่างต้องเพอร์เฟกต์ ร้านอาหารไม่ควรต้องมีการเสิร์ฟผิดมากเกินไป 

ซึ่งคุณโอกุนิก็เป็นคนนึงที่คิดแบบนั้น เพราะถึงแม้ลูกค้าจะรู้สึกสนุกและตื่นเต้นที่ได้ลุ้นกับการเสิร์ฟอาหาร แต่ที่ผ่านมามีการเสิร์ฟอาหารผิดมากกว่า 60% นั่นแปลว่า ใน 100 จาน เสิร์ฟผิดไปแล้วถึง 60 จาน จึงมีการปรับเปลี่ยนให้ลูกค้าเป็นคนจดเมนูเอง แล้วค่อยให้พนักงานไปดำเนินการ ด้วยวิธีนี้ทำให้สัดส่วนการผิดพลาดลดลงไปถึง 30% แต่ก็ยังคงมีการเสิร์ฟผิดถึงให้ลูกค้าได้ลุ้นกันอยู่

สร้างธุรกิจจากปัญหาที่อยู่รอบตัว

ธุรกิจนี้ทำให้คุณโอกุนิได้เห็นปฏิกิริยาของลูกค้า การสื่อสารที่สร้างร้อยยิ้ม ความรัก ความใส่ใจ นอกจากจะได้กำไรแล้ว ยังได้ช่วยเหลือสังคมและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและจิตใจของมนุษย์อีกด้วย บางทีเราก็ไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อหวังกำไรมหาศาล แต่เรากำลังจะทำธุรกิจเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดดเด่น และแตกต่างจากผู้อื่น 

ลองมองดูสิ่งรอบตัวว่ามีตอนนี้คนใกล้ตัวมีปัญหาอะไร เรื่องอะไรที่เราไม่ควรละเลย หรือมีอะไรที่เราพอจะช่วยได้ เชื่อว่าปัญหาของคนอื่นก็สามารถก่อกำเนิดเป็นธุรกิจได้เหมือนกับที่คุณโอกุนิทำ และยังช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนรอบข้างของเราได้อีกด้วย


ด้วย Concept ของร้านที่มีความแตกต่างและโดดเด่น การยิงโฆษณาก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป เพราะว่าสิ่งที่ลูกค้าพร้อมใจ
กันบอกต่อนั้นเท่ากับปริมาณความสุขที่เค้าได้รับ 


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *